วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556

'พงศ์เทพ'เล็งแก้ปัญหากำลังคน


          นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ตนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหาแนวการบริหารอัตรากำลังคนภาครัฐ ปีงบประมาณ 2556 เพื่อปรับอัตรากำลังคนภาครัฐให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ และยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น เนื่องจากปัจจุบันกำลังคนภาครัฐมีทั้งข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง ฯลฯ ซึ่งรัฐบาลมีความกังวลในเรื่องของภาระงบประมาณที่ต้องเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับกำลังคนเหล่านี้ โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีความพยายามจะควบคุมอัตรากำลังคนภาครัฐเพื่อลดภาระทางงบประมาณ แต่สามารถควบคุมได้ในบางจุดเท่านั้น คือ ส่วนที่เป็นข้าราชการแต่ส่วนที่ไม่ใช่ข้าราชการกลับมีการเพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งในส่วนของ ศธ.ก็มีปัญหาและคงต้องมาทบทวนเรื่องของอัตรากำลังคนเช่นกัน เช่น กรณีของโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 60 คน ซึ่งโรงเรียนเหล่านั้นมักจะมีปัญหาคุณภาพการเรียนการสอน จึงต้องใช้การบริหารบุคคลเข้ามาช่วยให้ประสิทธิภาพการสอนดีขึ้นซึ่งอาจจะช่วยลดภาระงบประมาณลงได้บางส่วนด้วย โดยอาจต้องใช้วิธีการยุบรวมโรงเรียนแต่ต้องหาวิธีที่ไม่ทำให้ผู้ปกครองเดือดร้อนหรือเสียประโยชน์ เป็นต้น
          ศ.(พิเศษ)ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวจะดูมิติเดียวไม่ได้ เช่นในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)มีนักเรียนประมาณ 7.6 ล้านคน มีครูกว่า 400,000 คน ถ้านำมาหารกันแล้วจะเท่ากับ ครู 1 คน ต่อนักเรียน 19 คน ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่ใช้ได้ แต่ในความเป็นจริงยังมีเรื่องของการกระจายตัวที่ไม่เหมาะสม และมีการขาดแคลนครูในรายวิชา ดังนั้นจึงอาจต้องมีการทบทวนเรื่องการกระจายอำนาจ รวมถึงปรับบทบาทของเขตพื้นที่การศึกษาในการบริหารจัดการครูด้วย.

          ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556

แนวทางการดำเนินงานด้านการศึกษา ปี ๒๕๕๖

ศึกษาธิการ - นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารฝ่ายการเมืองของกระทรวงศึกษาธิการ คือ นายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ  ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ  ศาสตราจารย์พิเศษ ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประแสง มงคลศิริ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินงานด้านการศึกษาในปี ๒๕๕๖


 
● ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน
รมว.ศธ. กล่าวว่าเรื่องของหลักสูตรมีผู้รู้จำนวนมาก และมีความคิดเห็นที่หลากหลาย จึงต้องการให้มีส่วนร่วมอย่างมากตั้งแต่ต้น เพราะหากในช่วงต้นมีส่วนร่วมน้อย ช่วงท้ายจะมีความคิดเห็นต่างกันมาก แต่หากมีส่วนร่วมอย่างมากและกว้างขวางในช่วงต้น จะเกิดการตกผลึกและจะประสบความสำเร็จเร็วขึ้น เพราะต้องการพัฒนาการศึกษาของคนไทยทุกคน
ดังนั้นในปี ๒๕๕๖ จะเดินหน้าปรับปรุงหลักสูตรและปรับการเรียนการสอนให้แล้วเสร็จ โดยจะมีการตั้งคณะทำงานหลายชุดขึ้นมาขับเคลื่อนและทำหน้าที่ต่างๆ เช่น ออกแบบระบบ โดยนำระบบการศึกษาของประเทศต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จมาร่วมศึกษาวิเคราะห์ เช่น ระบบ Outcome-based Education ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งออกแบบหลักสูตรโดยจะกำหนดคุณลักษณะที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียนเมื่อใช้ตำราเรียนนั้นเป็นเช่นไร  ด้านตำราซึ่งจะต้องถอดรหัสหลักสูตรเพื่อออกแบบตำรา แต่ไม่ใช่การเขียนตำรา อย่างไรก็ตามจะรักษาระบบตำราไทยที่เป็นตลาดเสรีไว้ เพราะสำนักพิมพ์ในปัจจุบันทั้ง ๑๗ แห่ง สามารถแข่งขันกันสร้างตำราที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นอยู่แล้ว

นอกจากนี้ นโยบายการใช้แท็บเล็ตเพื่อการศึกษา นับว่าเป็นรูปแบบการเรียนรู้แบบใหม่ ที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ ดังเช่น Microcontent ของสหรัฐอเมริกา โดยในปี ๒๕๕๖ ศธ.จะเร่งดำเนินการ Cyber Home ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลให้แล้วเสร็จ เพื่อเชื่อมโยงกับการเรียนรู้จากแท็บเล็ตของนักเรียน
จากนั้นจะเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องให้หลากหลายที่สุด โดยเชิญผู้รู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ มาช่วยระดมสมองให้มากที่สุด ซึ่งการที่จะให้คนมีส่วนร่วมมากตั้งแต่ต้นจะทำให้การปรับหลักสูตรเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมั่นคง และเสียเวลาน้อยกว่าการที่ไม่เปิดรับฟังความเห็นจากคนหมู่มาก
อย่างไรก็ตามการปรับหลักสูตรจะครอบคลุมตั้งแต่การทบทวนใหม่อีกครั้งว่าหลักสูตรควรจะแบ่งเป็น ๘ กลุ่มสาระเช่นเดิมหรือไม่ เนื้อหาในแต่ละวิชาจะต้องปรับอย่างไรให้เข้ากับความรู้วิทยาการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก เพราะในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษา เกิดแนวคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับการเรียนการสอนมากขึ้น รวมทั้งต้องมีการทบทวนเรื่องโครงสร้างเวลาเรียนด้วย ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่าเวลาเรียนในห้องเรียนควรจะลดลง เพราะเวลาเรียนในห้องเรียนของเด็กไทยมากเกินไป จนไม่กระตุ้นให้เกิดการใช้ความคิดวิเคราะห์ การคิดวิเคราะห์จะเกิดจากการทำกิจกรรมมากกว่า และเพิ่มกิจกรรมนอกห้องเรียน ขณะที่วิธีจัดการเรียนการสอนก็ต้องปรับให้ทันสมัยขึ้นด้วย
นายภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทั้งหมด ๔ ชุดใหญ่ ชุดแรก เป็นกรรมการที่จะมาออกแบบระบบการศึกษาของไทยใหม่ กรรมการออกแบบหลักสูตรในภาพรวม หาคำตอบให้ได้ว่าหลักสูตรควรจะเป็นกี่กลุ่มสาระวิชา เพราะมีแนวคิดหนึ่งว่าควรจะลดสาระวิชาลง แต่กำหนดให้ชัดเจนว่าในสาระวิชานั้นๆ จะแยกย่อยเป็นรายวิชาใดบ้าง เพราะหลักสูตรที่ใช้อยู่ไม่มีชื่อรายวิชาย่อย ทำให้ผู้เรียนยังไม่รู้ว่ากำลังเรียนวิชาใดอยู่ หรือบางรายวิชาที่มีประโยชน์ เช่น วิชาเรียงความ หรือย่อความหายไป ทำให้นักเรียนอ่านหนังสือไม่ออกจับใจความไม่ได้
ทั้งนี้ เมื่อกรรมการชุดใหญ่ออกแบบหลักสูตรในภาพรวมแล้ว จะเชิญผู้รู้มาเป็นกรรมการแยกย่อยในแต่ละวิชาอีก เพื่อทำหน้าที่ยกร่างหลักสูตรแต่ละวิชา นอกจากนี้จะมีกรรมการออกแบบตำราเรียน กรรมการชุดนี้จะออกแบบว่าคุณลักษณะที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียนเมื่อใช้ตำราเรียนนั้นเป็นเช่นไร แล้วให้สำนักพิมพ์แต่ละแห่งทั้งรัฐและเอกชนไปสร้างตำราเรียนตามคุณลักษณะนั้น ส่วนชุดสุดท้ายจะเป็นกรรมการที่สร้างความเข้าใจ เพราะการจะนำระบบการศึกษาและหลักสูตรใหม่มาใช้ จำเป็นต้องมีการสร้างความเข้าใจและเตรียมความพร้อม ในฝ่ายต่างๆ ทั้งโรงเรียน นักเรียน ครู
● เพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพ
สำหรับการศึกษาด้านอาชีวศึกษานั้น เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องปรับปรุง เพื่อให้มีสัดส่วนการเรียนสายอาชีวะต่อสายสามัญ เพิ่มขึ้นเป็น ๕๐:๕๐ ในปี ๒๕๕๙ และเพื่อรองรับสถาบันการอาชีวศึกษา ซึ่งนักศึกษาสามารถไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีได้ และเมื่อจบการศึกษาก็มีการรับประกันการมีงานทำ  เพราะ ศธ.จะร่วมมือกับสถานประกอบการ เพื่อผลิตบุคลากรในสาขาที่เป็นความต้องการของสถานประกอบการ 

จากนั้นระหว่างที่กำลังศึกษานักศึกษาจะได้ฝึกและปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการนั้นๆ โดยสถาบันการอาชีวศึกษาจะเน้นที่คุณภาพ ในช่วงแรกของการเปิดการเรียนการสอนจึงจะรับนักศึกษาจำนวนไม่มากนัก
สำหรับการแต่งตั้งนายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาและคณะกรรมการสถาบันการอาชีวศึกษาเป็นเรื่องสำคัญต่อสถาบันใหม่ และเป็นการแต่งตั้งครั้งแรกเพื่อทำหน้าที่กำหนดแนวทางซึ่งมีกติกามาก  รมว.ศธ.มีหน้าที่พิจารณาตามคำเสนอแนะของเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยจะพิจารณาผู้ที่มีความเหมาะสมและมีความพร้อมที่สุด
● อัตรากำลังคนภาครัฐ
ในปัจจุบันกำลังคนภาครัฐ จะมีทั้งข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย ลูกจ้าง ซึ่งจะต้องมีงบประมาณในส่วนของเงินเดือนและสวัสดิการจำนวนมาก ซึ่งมีความพยายามที่จะควบคุมค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มาเป็นเวลา ๑๐ ปีแล้ว แต่ควบคุมได้ในบางจุด เช่น ข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ในส่วนของศาลและองค์กรอิสระไม่สามารถควบคุมได้ ในขณะนี้จึงจำเป็นที่จะต้องใช้คนที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด คนส่วนใดเกินก็ให้ไปช่วยเสริมในส่วนที่ขาด มีหลายกระทรวงขาดบุคลากรด้านการบริการประชาชน แต่จะมีบุคลากรไปกระจุกตัวอยู่ในหน่วยงานกลางเป็นจำนวนมาก


สำหรับด้านการศึกษา ศธ.มีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า ๖๐ คน ซึ่งมีปัญหาเรื่องคุณภาพการเรียนการสอน จึงมีแนวทางในการบริหารจัดการโดยการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กในละแวกเดียวกัน เข้าด้วยกัน
หมายเหตุ มีนโยบายต่างๆ กรุณาติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม

ที่มา : http://www.moe.go.th/websm/2013/jan/001.html

วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ก.ค.ศ.อนุมัติวิทยฐานะ 19 ราย


          เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม นางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) วิสามัญเกี่ยวกับวิทยฐานะข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งทำการแทน ก.ค.ศ. เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีมติอนุมัติข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาเลื่อนวิทยฐานะต่างๆ จำนวน 19 ราย ได้แก่ วิทยฐานะ ผอ.สำนักงาน กศน.จังหวัดเชี่ยวชาญ 1 ราย คือ นายกุลธร เลิศสุริยะกุล ผอ.สำนักงาน กศน.จังหวัดนนทบุรี

           นางรัตนากล่าวต่อว่า วิทยฐานะผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ 6 ราย คือ น.ส.ศรีพรรณ เวียนทอง ร.ร.วัฒโนทัยพายัพ นายอรรถเสฏฐ์ สุสุข ร.ร.นวมินทราชูทิศ พายัพ นายบุญเสริญ สุริยา ร.ร.ฝางชนูปถัมภ์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 34 นายอัครเดช ยมภักดี ร.ร.อนุบาลเชียงของ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เชียงราย เขต 4 นายไพรินทร์ ศรีวิพัฒน์ ร.ร.อนุบาลสังขละบุรี สพป.กาญจนบุรี เขต 3 และว่าที่ ร.ต. สรยุทธ สืบแสงอินทร์ ร.ร.ปิยชาติพัฒนา สพม. เขต 7
          เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวต่อว่า วิทยฐานะครูเชี่ยวชาญ 5 ราย คือ นางสุดารัตน์ วงค์จู ร.ร.วัดวังกู่ สพป.ลำพูน เขต 1 นายไพฑูรย์ น้อมกล่อม อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สำนักงาน กศน. นางสุนี เทียนพึ่งเวียน ร.ร.พระตำหนักสวนกุหลาบ มหามงคล สพป. นครปฐม เขต 2 นางกฤษณา กาญจนสุระกิจ ร.ร.นารีรัตน์จังหวัดแพร่ สพม. เขต 37 และ นายพงษ์ศักดิ์ แก้วใจดี ร.ร.วัดน้อยนพคุณ สพม. เขต 1 และวิทยฐานะรอง ผอ.ชำนาญการพิเศษ 1 ราย คือ น.ส.ทวีศรี วุฒิพิมลวิทยา ร.ร.อนุบาลสังขละบุรี สพป.กาญจนบุรี เขต 3
          นางรัตนากล่าวต่อว่า วิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ 5 ราย คือ นายณรงค์ บัวเพชร์ ร.ร.ทุ่งใหญ่วิทยาคม สพม. เขต 12 น.ส.ประทิน เลี่ยนจำรูญ วิทยาลัยเทคนิคพังงา นางลักขณา นันทวงค์ ร.ร.วัดโหละคล้า สพป.ตรัง เขต 1 นางประไพ ธีรนรเศรษฐ์ ร.ร.อนุบาลเชียงใหม่ สพป.เชียงใหม่ เขต 1 และนายชวลิต ยิ่งยง ร.ร.บ้านม่วงพิทยาคม สพม.เขต 23 และวิทยฐานะรอง ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชำนาญการพิเศษ 1 ราย คือ นายอำนาจ สุทิน สพป.พัทลุง เขต 1


          --มติชน ฉบับวันที่ 21 ธ.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--

วันพุธที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สพฐ.ผุดศูนย์ STEM พัฒนาครูวิทย์


          ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)เปิดเผยถึงการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้น ฐาน(สพฐ.)ว่าได้เตรียมการยกระดับการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ โดยจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ทำหลักสูตรพัฒนาครู ผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ในระดับประถมศึกษา โดยเฉพาะครูไม่ได้จบวุฒิการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ ให้มีความร฿และความมั่นใจในการสอนวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำหลักสูตรวิชาวิทยาศาสตร์ทุกหัวข้อที่สอนในระดับประถมตอนต้นและตอน ปลายมาคลี่ดูว่าจุดใดมีปัญหาเพื่อนำมาจัดทำเครื่องมือ ชุดอุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอน รวมทั้งเครื่องมือชุดปฏิบัติการในการทดลองวิทยาศาสตร์เพื่ออบรมครู ทั้งนี้ คาดว่าจะมีครูประถมจากโรงเรียน10,000 โรงที่ได้รับการอบรมครั้งนี้ โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านด้านวิทยาศาสตร์ที่คร่ำหวอดมาให้ความรู้แก่ครู

           "วิชาวิทยาศาสตร์เป็นวิชาชีพพื้นฐานสำคัญสำหรับนักเรียน แต่ สพฐ.ไม่ประสบความสำเร็จในการยกระดับผลสัมฤทธิ์นักเรียนให้สูงขึ้น ซึ่งเมื่อวิเคราะห์หาสาเหตุพบว่าเป็นเพราะปัจจับความพร้อมของครูและสื่อการ สอนที่ไม่ตอบสนอง ดังนั้นหากมีการอบรมครูผู้สอน โดยเฉพาะคนที่จบไม่ต้องวุฒิได้มีความพร้อมและความมั่นใจในการสอนและการทดลอง ก็จะทำให้เด็กได้สนุกที่จะเรียนรู้ ไม่ต้องเลียนแบบแห้ง และจินตนาการถึงการทดลองต่างๆ เช่นที่ผ่านมา ฉะนั้นเมื่อจับจุดปัญหาได้และแก้ไขปัยหาได้ตรงจุดก็จะส่งผลดีต่อเด็กใน อนาคต"นายชินภัทรกล่าว
          เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในการประชุมคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี (สสวท.)เมื่อเร็วๆนี้ ประธานบอร์ด สสวท.ได้เสนอว่าต่อไป สสวท.ได้เสนอว่าต่อไป สสวท. และสพฐ. ควรจะร่วมมือในการยกระดับเรื่องวิทยาศาสตร์มากขึ้นกว่านี้  โดยเสนอให้มีการตั้งศูนย์STEM (Science and Technology Engineering and Methermatic)ขึ้นในทุกเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศเพื่อใช้เป็นกลไกการขับ เคลื่อนการทำงานร่วมกัน ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะคล้ายกับศูนย์ ERIC ของ สพฐ. ที่เน้นการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ แต่ศูนย์ STEM จะเน้นการพัฒนาการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2556 จะเริ่มตั้งศูนย์ดังกล่าวได้ในเขตพื้นที่ที่มีความพร้อมขณะเดียวกัน สพฐ.จะเตรียมการตั้งศูนย์อาเซียนศึกษาตามนโยบายของนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการให้ครบทั้ง 225 เขตพื้นที่การศึกษาทั้งเขตประถมศึกษาและมัธยมศึกษา แต่จะเริ่มดำเนินการในเขตที่มีความพร้อมก่อนตั้งเป้าที่ 1:10 ให้มีความรู้ความเข้าใจในด้านอาเซียน


          --คมชัดลึก ฉบับวันที่ 20 ธ.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--

วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2555

พงหนามของครูทำงานหนัก


          ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์
          เมื่อก่อนใคร ๆ ก็คิดว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่ต่ำต้อย ทำงานหนัก ยากจนเพราะมีเงินเดือนน้อย แทบไม่มีหนทางก้าวหน้า มีหนี้สินล้นพ้นตัว และอื่น ๆ อีกมาก ดังนั้นคนที่คิดจะเป็นครู จึงมักเป็นคนที่มีฐานะครอบครัวยากจน และเป็นคนชนบทเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยมากเป็นลูกหลานชาวไร่ชาวนาที่ต่อสู้ปากกัดตีนถีบเพราะไม่อยากให้ลูกหลานลำบากเหมือนตน เพราะการเรียนครูมีทุน เลยทำให้ได้คนจนมาเรียนมากและก็ทำให้ได้คนเก่งแต่ยากจนมาเป็นครูจำนวนหนึ่ง และคนเหล่านี้ก็มาเป็นกำลังสำคัญในการสร้างการศึกษาให้บ้านเมือง
          ภาพต่าง ๆ อย่างที่กล่าวมานี้ เดี๋ยวนี้เป็นอดีตไปหมดแล้ว สังคมเห็นว่าคนเก่งไม่มาเรียนครู คนเรียนครูคือคนท้ายแถว เหลือเลือก หรือไม่ก็เชื่อว่าครูไม่ได้ยากจนจริง ครูมีเงินเดือนสูง แต่ที่มีหนี้สินมากเพราะใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ครูประสบความสำเร็จในการเรียกร้องปรับเงินเดือน ปรับวิทยฐานะให้สูงขึ้น ครูมีเงินเดือนไม่น้อยกว่าข้าราชการประเภทอื่นหรืออาจสูงกว่าด้วยซ้ำไป และยังเรียกร้องให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ
          แต่ถ้ามองด้านคุณภาพการศึกษา ภาพที่ปรากฏคือ มีคนไม่พอใจมากขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนกัน การศึกษาถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากคนภายนอก และภายในวงการเองก็รุนแรงยิ่งขึ้น รุนแรงจนแทบว่าไม่มีอะไรดีเหลืออยู่ ครูมีวุฒิทางการศึกษาสูงขึ้น สูงจนดีกว่าวงการวิชาชีพอื่น ครูมีผลงานวิชาการ มีงานวิจัยมากขึ้น ครูทำผลงานวิชาการเพื่อนำไปขอปรับเลื่อนวิทยฐานะแต่ถูกกล่าวหาว่าทิ้งห้องเรียน ทิ้งการสอนเพื่อเอาเวลาไปทำผลงานวิชาการ และที่ร้ายแรงกว่านั้น ครูถูกกล่าวหาว่าลอกเลียนผลงานวิชาการ มีบริษัทรับจ้างทำผลงาน เงินเดือนครูสูงขึ้นแต่คุณภาพการศึกษาลดลง ที่กล่าวมานี้อาจไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด แต่เป็นภาพลักษณ์ทางลบที่ปรากฏชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ
          ปัญหาคือครูต้องก้าวหน้าด้วยผลงานทางวิชาการ ทุกคนจึงทุ่มเทเพื่อผลงานวิชาการ และคนที่มีความสำเร็จในเรื่องนี้ก็คือคนที่อยู่ใกล้แหล่งความรู้และมีเวลาทุ่มเท จากเวลายามว่างหรือจากการเบียดบังเวลาการสอน หรือจากวิธีการที่ไม่ถูกต้องหลาย ๆ วิธีที่กล่าวมาแล้ว มีใครบ้างที่คิดถึงครูอีกประเภทหนึ่ง คือครูที่ทำงานในท้องถิ่นทุรกันดาร อยู่ห่างไกลชายขอบของประเทศ ครูที่ทำงานกับเด็กยากจน ไม่มีแม้แต่สิ่งอำนวยความสะดวก เด็กจำนวนหนึ่งมีปัญหาทางวัฒนธรรม  พูดไทยไม่เป็น ที่พูดเป็นก็พูดไม่ชัด เด็กมีสารพัดปัญหา ครูก็มีน้อย วันหนึ่ง ๆ มัวแต่นั่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่มีเวลาสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการ ไม่มีโอกาสได้เลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง เลื่อนวิทยฐานะ
          ถ้าถามว่าครูที่ควรได้รับการยกย่องตอบแทนในคุณความดีที่ทำเพื่อการศึกษาของชาติน่าจะอยู่ที่ผลงานวิชาการเป็นสำคัญหรือ คำตอบคิดว่าไม่ใช่ เพราะครูบางคนอยู่ห่างไกล บางคนก็เสี่ยงภัยเสี่ยงชีวิต จะให้เขาคิดประดิษฐ์ผลงานทางวิชาการคงยาก ควรมีวิธีตอบแทนความดีความชอบให้ครูเหล่านี้ได้ปรับเลื่อนวิทยฐานะด้วยหรือไม่ เขาเหล่านี้ปิดทองหลังพระ ทำงานเพื่อความสงบและสันติสุขของประเทศ บางครั้งเขาต้องเสียสละแม้ชีวิต
          คิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องมีระบบใหม่เพิ่มเติม เป็นระบบวิทยฐานะที่ไม่ยึดติดกับผลงานวิจัย (ที่บางครั้งก็หลอกลวง) แต่ยึดผลของงานและความสำเร็จที่ประจักษ์ชัดเป็นสำคัญ และเป็นระบบที่ให้ความสำคัญกับคนที่ต้องทำงานลำบากตรากตรำ เรื่องเสี่ยงภัยเป็นพิเศษ โดยระบบดังกล่าวไม่ควรเป็นระบบให้เจ้าตัวขอมา เพราะเราได้รับบทเรียนจากคำขอที่เต็มไปด้วยความเท็จมามากแล้ว
          ขอเสนอให้มีระบบการสรรหา อาจเป็นระบบคล้ายการสรรหาศิลปินแห่งชาติ ให้มีการกำหนดกลุ่มครูที่ควรดูแลเป็นพิเศษ และควรมีจำนวนจำกัด โดยกำหนดให้มีกรรมการที่เป็นอิสระในการสรรหา แล้วประกาศยกย่องให้เป็นครูดีเด่นเฉพาะด้าน ทำกันเป็นปี ๆ ไป ปีละครั้งก็น่าจะเพียงพอ บ้านเรามีศิลปินแห่งชาติ นักวิจัยแห่งชาติ จะมีครูแห่งชาติอีกบ้างไม่ได้หรือ
          ครูที่ได้รับการยกย่องก็ประเมินให้วิทยฐานะระดับใดระดับหนึ่งตามความเหมาะสมกับผลงานและความยากลำบาก ด้วยวิธีนี้ครูที่ทำงานในพื้นที่กันดารยากลำบากและเสี่ยงภัยก็จะได้ปรับเลื่อนวิทยฐานะง่ายขึ้น และอาจเป็นเครื่องดึงดูดความสนใจให้คนยอมไปทำงานในพื้นที่ยากลำบากมากขึ้นด้วย
          เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ อยากให้กระทรวงศึกษาธิการได้พิจารณาอย่างจริงจัง ผู้เขียนยินดีรับฟังข้อคิดเห็นทั้งติและชมอย่างเต็มที่ หากความเห็นใด ๆ เพิ่มเติม โปรดส่งมาได้ที่panompongpaibool@yahoo.com


          ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์