วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2555

พงหนามของครูทำงานหนัก


          ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์
          เมื่อก่อนใคร ๆ ก็คิดว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่ต่ำต้อย ทำงานหนัก ยากจนเพราะมีเงินเดือนน้อย แทบไม่มีหนทางก้าวหน้า มีหนี้สินล้นพ้นตัว และอื่น ๆ อีกมาก ดังนั้นคนที่คิดจะเป็นครู จึงมักเป็นคนที่มีฐานะครอบครัวยากจน และเป็นคนชนบทเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยมากเป็นลูกหลานชาวไร่ชาวนาที่ต่อสู้ปากกัดตีนถีบเพราะไม่อยากให้ลูกหลานลำบากเหมือนตน เพราะการเรียนครูมีทุน เลยทำให้ได้คนจนมาเรียนมากและก็ทำให้ได้คนเก่งแต่ยากจนมาเป็นครูจำนวนหนึ่ง และคนเหล่านี้ก็มาเป็นกำลังสำคัญในการสร้างการศึกษาให้บ้านเมือง
          ภาพต่าง ๆ อย่างที่กล่าวมานี้ เดี๋ยวนี้เป็นอดีตไปหมดแล้ว สังคมเห็นว่าคนเก่งไม่มาเรียนครู คนเรียนครูคือคนท้ายแถว เหลือเลือก หรือไม่ก็เชื่อว่าครูไม่ได้ยากจนจริง ครูมีเงินเดือนสูง แต่ที่มีหนี้สินมากเพราะใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ครูประสบความสำเร็จในการเรียกร้องปรับเงินเดือน ปรับวิทยฐานะให้สูงขึ้น ครูมีเงินเดือนไม่น้อยกว่าข้าราชการประเภทอื่นหรืออาจสูงกว่าด้วยซ้ำไป และยังเรียกร้องให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ
          แต่ถ้ามองด้านคุณภาพการศึกษา ภาพที่ปรากฏคือ มีคนไม่พอใจมากขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนกัน การศึกษาถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากคนภายนอก และภายในวงการเองก็รุนแรงยิ่งขึ้น รุนแรงจนแทบว่าไม่มีอะไรดีเหลืออยู่ ครูมีวุฒิทางการศึกษาสูงขึ้น สูงจนดีกว่าวงการวิชาชีพอื่น ครูมีผลงานวิชาการ มีงานวิจัยมากขึ้น ครูทำผลงานวิชาการเพื่อนำไปขอปรับเลื่อนวิทยฐานะแต่ถูกกล่าวหาว่าทิ้งห้องเรียน ทิ้งการสอนเพื่อเอาเวลาไปทำผลงานวิชาการ และที่ร้ายแรงกว่านั้น ครูถูกกล่าวหาว่าลอกเลียนผลงานวิชาการ มีบริษัทรับจ้างทำผลงาน เงินเดือนครูสูงขึ้นแต่คุณภาพการศึกษาลดลง ที่กล่าวมานี้อาจไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด แต่เป็นภาพลักษณ์ทางลบที่ปรากฏชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ
          ปัญหาคือครูต้องก้าวหน้าด้วยผลงานทางวิชาการ ทุกคนจึงทุ่มเทเพื่อผลงานวิชาการ และคนที่มีความสำเร็จในเรื่องนี้ก็คือคนที่อยู่ใกล้แหล่งความรู้และมีเวลาทุ่มเท จากเวลายามว่างหรือจากการเบียดบังเวลาการสอน หรือจากวิธีการที่ไม่ถูกต้องหลาย ๆ วิธีที่กล่าวมาแล้ว มีใครบ้างที่คิดถึงครูอีกประเภทหนึ่ง คือครูที่ทำงานในท้องถิ่นทุรกันดาร อยู่ห่างไกลชายขอบของประเทศ ครูที่ทำงานกับเด็กยากจน ไม่มีแม้แต่สิ่งอำนวยความสะดวก เด็กจำนวนหนึ่งมีปัญหาทางวัฒนธรรม  พูดไทยไม่เป็น ที่พูดเป็นก็พูดไม่ชัด เด็กมีสารพัดปัญหา ครูก็มีน้อย วันหนึ่ง ๆ มัวแต่นั่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่มีเวลาสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการ ไม่มีโอกาสได้เลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง เลื่อนวิทยฐานะ
          ถ้าถามว่าครูที่ควรได้รับการยกย่องตอบแทนในคุณความดีที่ทำเพื่อการศึกษาของชาติน่าจะอยู่ที่ผลงานวิชาการเป็นสำคัญหรือ คำตอบคิดว่าไม่ใช่ เพราะครูบางคนอยู่ห่างไกล บางคนก็เสี่ยงภัยเสี่ยงชีวิต จะให้เขาคิดประดิษฐ์ผลงานทางวิชาการคงยาก ควรมีวิธีตอบแทนความดีความชอบให้ครูเหล่านี้ได้ปรับเลื่อนวิทยฐานะด้วยหรือไม่ เขาเหล่านี้ปิดทองหลังพระ ทำงานเพื่อความสงบและสันติสุขของประเทศ บางครั้งเขาต้องเสียสละแม้ชีวิต
          คิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องมีระบบใหม่เพิ่มเติม เป็นระบบวิทยฐานะที่ไม่ยึดติดกับผลงานวิจัย (ที่บางครั้งก็หลอกลวง) แต่ยึดผลของงานและความสำเร็จที่ประจักษ์ชัดเป็นสำคัญ และเป็นระบบที่ให้ความสำคัญกับคนที่ต้องทำงานลำบากตรากตรำ เรื่องเสี่ยงภัยเป็นพิเศษ โดยระบบดังกล่าวไม่ควรเป็นระบบให้เจ้าตัวขอมา เพราะเราได้รับบทเรียนจากคำขอที่เต็มไปด้วยความเท็จมามากแล้ว
          ขอเสนอให้มีระบบการสรรหา อาจเป็นระบบคล้ายการสรรหาศิลปินแห่งชาติ ให้มีการกำหนดกลุ่มครูที่ควรดูแลเป็นพิเศษ และควรมีจำนวนจำกัด โดยกำหนดให้มีกรรมการที่เป็นอิสระในการสรรหา แล้วประกาศยกย่องให้เป็นครูดีเด่นเฉพาะด้าน ทำกันเป็นปี ๆ ไป ปีละครั้งก็น่าจะเพียงพอ บ้านเรามีศิลปินแห่งชาติ นักวิจัยแห่งชาติ จะมีครูแห่งชาติอีกบ้างไม่ได้หรือ
          ครูที่ได้รับการยกย่องก็ประเมินให้วิทยฐานะระดับใดระดับหนึ่งตามความเหมาะสมกับผลงานและความยากลำบาก ด้วยวิธีนี้ครูที่ทำงานในพื้นที่กันดารยากลำบากและเสี่ยงภัยก็จะได้ปรับเลื่อนวิทยฐานะง่ายขึ้น และอาจเป็นเครื่องดึงดูดความสนใจให้คนยอมไปทำงานในพื้นที่ยากลำบากมากขึ้นด้วย
          เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ อยากให้กระทรวงศึกษาธิการได้พิจารณาอย่างจริงจัง ผู้เขียนยินดีรับฟังข้อคิดเห็นทั้งติและชมอย่างเต็มที่ หากความเห็นใด ๆ เพิ่มเติม โปรดส่งมาได้ที่panompongpaibool@yahoo.com


          ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น